พัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย สู่การเป็นเมืองแห่งแฟชั่น

อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยและมีบทบาทต่อการจ้างงานกว่า 2 ล้านคน ถูกจัดอันดับอยู่ 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมแฟชั่นเอเชีย เนื่องจากมีความได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบที่หลากหลาย ทักษะฝีมือแรงงานที่ประณีต และมีการออกแบบที่สร้างสรรค์ โดยจะเห็นได้ว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.) อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ถึง 3.7 แสนล้านบาท (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า และอัญมณีและเครื่องประดับ) แต่หากเทียบกับผู้นำด้านแฟชั่นอย่างฮ่องกงที่สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำแฟชั่นแถวหน้าในภูมิภาคเอเชียที่มีตัวเลขการส่งออกสินค้าแฟชั่นสูงถึง 9.3 แสนล้านบาทนั้นจะเห็นได้ว่าสูงกว่าประเทศไทยเกือบสามเท่า โดยฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเมืองที่มีความก้าวหน้าของอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอย่างมาก

ดังนั้น รัฐบาลจึงผลักดันและพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างต่อเนื่องและครบวงจร มีหน่วยงานที่ดูแลด้านแฟชั่นโดยเฉพาะ รวมทั้งมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย การออกแบบที่ได้รับการยอมรับระดับสากล อีกทั้งยังสามารถสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตนเองที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น จิออร์ดาโน่ (Giordano) ครอคโคไดล์ (Crocodile) จีทูเธาซันด์ (G2000) และราเบียนโค (RABEANCO) เป็นต้น

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นฮ่องกงยังเป็นตัวแปรสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวที่ฮ่องกงซึ่งมีสูงถึงปีละ 50 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีจุดหมายปลายทางที่ย่านการค้าแฟชั่นต่างๆ เช่น ย่านคอสเวย์เบย์ (Causeway Bay) ย่านแอดมิรัลตี ย่านมงก็ก และย่านเซ็นทรัล ซึ่งเป็นย่านจำหน่ายสินค้าแฟชั่นระดับไฮเอนด์ เช่น หลุยส์ วิตตอง กุชชี่ แอร์เมส ดิออร์ และปราด้า ฯลฯ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าระดับหรูหลายแห่ง เช่น ห้างไฮซึ่นเพลส ห้างโซโก แลนด์มาร์คอเล็กซานดราแลนด์มาร์คชาเตอร์จาร์ดิน เฮาส์เอ็กซ์เชนจ์สแควร์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีย่านโซโหสำหรับสินค้าสไตล์บูติกสินค้าแนวย้อนยุค และงานศิลปะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าฮ่องกงมีย่านการค้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญซึ่งผลักดันให้ฮ่องกงเป็นเมืองแห่งแฟชั่นที่สำคัญ ทั้งนี้ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ “สวรรค์แห่งการชอปปิ้ง” (FashionShopping Paradise) เทียบเท่าฮ่องกงได้นั้นจะต้องใช้กลยุทธ์เพื่อให้เกิดการพัฒนาในหลายด้าน อาทิ จูงใจให้ผู้ประกอบการต่างชาติสนใจมาซื้อสินค้าไทย ตลอดจนส่งเสริมให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าแฟชั่นของไทยมากขึ้น โดยสร้างแหล่งชอปปิ้งที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล โดยจำเป็นต้องกระจายแหล่งชอปปิ้ง เช่น ชอปปิ้ง สตรีทชอปปิ้ง แอเรียและชอปปิ้งบิลดิ้ง ฯลฯ ให้มีความหลากหลาย ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งพัฒนาระบบลอจิสติก (Logistic) ที่เอื้อต่อการส่งออกสินค้าแฟชั่น นอกจากนี้ จะต้องมีการสร้างค่านิยมให้แก่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและนักท่องเที่ยว ให้ทราบว่านอกจากประเทศไทยจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแล้ว ประเทศไทยยังมีย่านการค้าสินค้าแฟชั่นที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมาเยือนและซื้อกลับไป อย่างไรก็ดี หน่วยงานรัฐมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งและมีหน้าที่หลักในการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในการนำเสนอสินค้าแฟชั่นไทยออกสู่สายตาต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ

This entry was posted in แฟชั่น and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.